การทำให้ เซ็กส์ทอย ถูกกฎหมายกลับมาเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ของสภาผู้แทนราษฎร หยิบยกเรื่องนี้มาหารือ พร้อมกับ "การฉีดยาให้อวัยวะเพศฝ่อ" เป็นส่วนหนึ่งของมาตราการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนและการละเมิดทางเพศ
แม้ว่าข้อเสนอนี้ดูขัดแย้งกับความรู้สึกของกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมในสังคม แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หน้าใหม่ เช่น มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคไทยศรีวิไลย์ และ ศรัญ ฤกษ์อัตการ โฆษก กมธ. ชุดนี้ (จากพรรคก้าวไกล) บอกกับบีบีซีไทยว่า ถึงเวลาที่ต้อง "ปลดปล่อยให้ถูกกฎหมาย"
ขณะที่นักขับเคลื่อนรณรงค์ให้เซ็กซ์ทอยเป็นสินค้าควบคุมพิเศษหนุนแนวคิดนี้ระบุว่าสังคมต้องเปิดกว้างทางความคิด หากทำให้ถูกกฎหมายประโยชน์ที่ได้มากกว่าความสุขทางเพศ คือ ความปลอดภัยของผู้ใช้
ประเด็นดังกล่าวกำลังจะนำมาถกเถียงกันอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ในวันที่ 22 มิ.ย.ที่อาคารรัฐสภา
ศรัญ บอกว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องลงคะแนนเสียงเพื่อสนับสนุนมาตรการดังกล่าว ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนฯเพื่อเห็นชอบอีกครั้งและผลักดันเป็นร่างกฎหมายขึ้น หาก สภาผู้แทนฯ และ วุฒิสภา เห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ภายในปีนี้ คาดว่าภายในปีหน้าจะมีร้านขายเซ็กส์ทอยที่ถูกกกฎหมายในไทยได้
ปัจจุบัน เซ็กส์ทอย ถูกจัดเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ที่บางฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องทำลายศีลธรรมอันดีที่มีมาอย่างยาวนาน ทว่าแนวคิดดั้งเดิมและข้อกฎหมายที่ไม่ปรับตามยุคสมัย ก็ก่อให้เกิดการลักลอบขายสินค้าอย่างผิดกฎหมายอย่างเปิดเผย
จากการสำรวจร้านค้าแผงลอยริมถนนสุขุมวิท ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย พบการจำหน่ายอุปกรณ์เซ็กส์ทอย และสินค้าที่อ้างว่าเป็นยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ อย่างน้อย 5 จุด
เมื่อมีการทำผิดกฎหมายที่เปิดเผย ก็มีการปราบปรามจับกุมให้เห็นบ่อยครั้ง ล่าสุด เมื่อ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้บุกยึดเซ็กส์ทอย และ "ยาปลุกเซ็กส์" ในโกดังแห่งหนึ่งใน อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ ซึ่งลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่านับล้านบาท
เปลี่ยนคำนิยามใหม่
ศรัญ ที่ประกอบอาชีพทนายความด้วย มองว่า การแก้ปัญหาเรื่องเซ็กส์ทอยนั้นทำไม่ยาก เนื่องจากมีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่ตีความว่าสินค้าดังกล่าวเป็นวัตถุลามก เป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 287 ที่ว่าด้วยการนำเข้า เผยแพร่ ประกอบการค้าหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งลามกอนาจาร ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
เขาบอกว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนคำนิยามให้สินค้าเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นสินค้าควบคุม พร้อมกับให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้กำกับดูแลและออกใบอนุญาตสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการจัดจำหน่าย โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตและแหล่งที่มา รวมทั้งกำหนดพื้นที่ขายอย่างเหมาะสม และกำหนดอายุผู้ซื้อ ซึ่งเขามองว่าน่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตและการกำกับดูแล เช่นเดียวกันกับ กรณีการเปิดร้านเกม ร้านคาราโอเกะ และโรงภาพยนตร์
ลดปัญหาส่วย เพิ่มรายได้สู่รัฐ
การเปลี่ยนสถานะภาพของเซ็กส์ทอยจากสิ่งที่ผิดกฎหมายในแบบ "วัตถุลามก" มาสู่ "สินค้าควบคุมพิเศษ" นอกจากจะทำให้ทราบที่มาที่ไปของสินค้าดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้ใช้แล้ว ยังเป็นการตัดวงจรปัญหาระบบส่วยในกลุ่มผู้ขายหรือกลุ่มผู้นำเข้ามากับเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มรายได้เข้ารัฐได้อีกทาง
ด้าน มงคลกิตติ์ ผู้มีแนวความคิดสนับสนุนให้โสเภณีถูกกฎหมายและจัดสวัสดิการทางเพศทั้งสำหรับบุคคลทั่วไปและบุคคลที่ไม่มีทุนทรัพย์ บอกว่า การที่ยังปล่อยให้สินค้าประเภทนี้ยังคงเป็นสีเทาและเปิดโอกาสให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบส่วยระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ค้า หากว่ายกมาให้ถูกกฎหมายก็จะทำให้มีรายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา ไม่ได้กระจุกตัวในบางกลุ่มเท่านั้น
"ตอนนี้ หนี้สาธารณะของไทยแทบชนเพดาน (รัฐ) ต้องหารายได้เพิ่ม ถึงตอนนี้จะอ้างเรื่องศีลธรรมไม่ได้ ยอมรับความจริง เราต้องควบคุมคอร์รัปชัน นี่คือ นิวนอร์มัล คิดแบบเดิมไม่ได้ ต้องจัดเก็บภาษี" เขากล่าว
บีบีซีไทยไม่พบว่ามีหน่วยงานใดที่ประเมินมูลค่าธุรกิจเซ็กส์ทอยในไทย แต่พบตัวเลขของบริษัทวิจัยข้อมูลเทคนาวิโอ ของอังกฤษ ที่คาดการณ์มูลค่าการเติบโตของทั้งโลก เทคนาวิโอคาดว่า ธุรกรรมในตลาดเซ็กส์ทอยระหว่างปี 2562 - 2566 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 7% สร้างเม็ดเงินเป็นมูลค่าเติบโตที่เพิ่มขึ้น 9.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 3.07 แสนล้านบาท โดย 48% หรือเกือบครึ่งของการเติบโตดังกล่าวเป็นความต้องการจากภูมิภาคเอเชีย
ทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับเพศ
นิศารัตน์ จงวิศาล นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวรณรงค์ให้เซ็กส์ทอยถูกกฎหมายกล่าวกับบีบีซีไทยว่า นับตั้งแต่ที่เธอเริ่มการรณรงค์ใน ปี 2561 จนถึงวันนี้ การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายจากภาครัฐยังไม่คืบหน้า ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ฟากกฎหมายยังไม่ขยับอาจจะมาจากทัศนคติลบเกี่ยวกับเพศ
"ฉันเคยคุยกับผู้เขียนกฎหมายหลาย ๆ คน ทำให้ทราบว่าค่อนข้างมีทัศนคติต่อเรื่องความต้องการที่จะมีความสุขทางเพศจนต้องใช้เซ็กส์ทอยเป็นเรื่องของคนป่วย สิ่งนี้ถือว่าเป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะว่าเป็นการตีตราตรง ๆ ต่อผู้ใช้" เธออธิบาย
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวรายนี้เชื่อว่า หากว่ารัฐสามารถรับรองว่าการใช้เซ็กส์ทอยเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย จะนำไปสู้การสร้างทัศนคติที่ดีในสังคม
"ข้อดีหากว่าเปิดให้จำหน่ายเซ็กส์ทอยได้ถูกกฏหมาย จะสามารถลดโอกาสสูญเสียหรืออันตรายต่อร่างกายจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หากว่าทำให้ถูกกฎหมาย มันจะถูกควบคุมดูแลมาตรฐานการผลิต วัตถุดิบที่ใช้อย่างปลอดภัย" เธออธิบาย
ความเคลื่อนไหวล่าสุดจะเป็นเพียงความพยายามที่สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกมธ.แก้ไข้ปัญหาข่มขืน 49 คนและผู้แทนราษฏรในสภาจะเป็นผู้ตัดสิน
5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเซ็กส์ทอย
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลบางส่วนจากบทความบนเว็บไซต์ของบีบีซีเรดิโอโฟร์ที่อธิบายถึงอุตสาหกรรมเซ็กส์ทอยและแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
1. ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิง
นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยการตลาดเทคนาวิโอ ในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา สัดส่วนผู้ซื้อและใช้สินค้าประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นหญิงราว 60-65% แต่ก็มีบางช่วงที่กลุ่มผู้ใช้เพศชายขยับสัดส่วนเพิ่มเป็น 50%
ขณะที่เอริกา เบรเวอร์แมน ลูกสาวของผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทผลิตเซ็กส์ทอย Doc Johnson อธิบายว่า การรับรู้และมโนภาพต่อสินค้าประเภทนี้เปลี่ยไปโดยสิ้นเชิง โดนจุดเปลี่ยนสำคัญคือ ฉากการสนทนาระหว่างตัวละครหลัก 4 ตัวในละครซีรีส์เรื่อง Sex in the City เกี่ยวกับไวเบรเตอร์ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าผู้หญิงจำนวนมากมีความกล้าในเรื่องนี้มากขึ้น และเป็นเหตุผลที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา
2.ยอดขายเซ็กส์ทอยทั่วโลกมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท
เว็บไซต์บีบีซีเรดิโอโฟร์ระบุอีกว่า ขนาดตลาดสินค้าและอุปกรณ์ช่วยเหลือทางเพศในปี 2560 มีมูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านปอนด์หรือราว 6.9 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่ามีขนาดใหญ่เป็น 10 เท่าของตลาดแปรงสีฟันไฟฟ้า และมีมูลค่ามากกว่ารายจ่ายของผู้บริโภคทั่วโลกในการซื้อไมโครเวฟของปี 2559 เลยทีเดียว
3. ร้านค้าออนไลน์ เร่งยอดขายโต
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซถือเป็นแรงพลักดันให้ตลาดนี้เติบโตอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร ร้าน Lovehoney ที่จำหน่ายสินค้าช่วยเหลือทางเพศผ่านออนไลน์สามารถรายได้ราว 3.8 ล้านบาทนับตั้งแต่เริ่มกิจการมา และเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 35% ทุก ๆ ปี หากพิจารณาแล้วนับตั้งแต่ก่อนตั้งมากว่า 16 ปี ยอดขายเติบโตเป็น 130 เท่า
ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนี้บอกว่า ข้อดีขอการขายในระบบออนไลน์เพราะผู้ซื้อไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับบรรจุหีบห่อเวลาเดินทางไปซื้อ เพราะจะมีการจัดส่งโดยมิดชิด หรือผู้ซื้อก็จะไม่รู้สึกเขินอายหากว่าจะต้องถามผู้ขายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ หากเปรียบเทียบกับการเดินเข้าไปซื้อของในร้าน
4.จีน คือ ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
ไม่ว่าคุณจะซื้อเซ็กส์ทอยที่ไหน ในสหราชอาณาจักรหรือที่ใดในโลก สินค้าเล่านั้นล้วนผลิตและส่งออกจากประเทศจีน เจ้าของบริษัทวิลเลียม ผู้ผลิตสินค้านี้ที่ดำเนินธุรกิจในจีนมากว่า 20 ปี บอกว่า อัตราการเติบโตของธุรกิจเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า ซึ่งทำให้บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้นและยังส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนการผลิตมากถึง 70% ของโลก
5.จีนและอินเดีย คือ ตลาดที่เติบโตมากที่สุด
นักวิเคราะห์ของเทคนาวิโอ บอกว่า อินเดียและจีนถือเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากการที่จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และสินค้ากลุ่มนี้จึงราคาไม่แพงมาก ในขณะที่อินเดียแม้ว่าจะทัศนคติและความเชื่อทางวัฒนธรรมจะยังคงไม่ยอมรับเรื่องนี้มากนัก จึงทำให้การตั้งร้านค้าหรือขายสินค้านี้ในที่สาธารณะจะยังไม่สามารถทำได้ แต่พัฒนาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซทำให้การซื้อเซ็กส์ทอยเป็นเรื่องที่ง่ายดาย
June 21, 2020 at 12:32PM
https://ift.tt/2NeteKr
เซ็กส์ทอย ถูกกฎหมาย กับทางออกลดปัญหาทางเพศในสังคม - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2ZllqOm
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เซ็กส์ทอย ถูกกฎหมาย กับทางออกลดปัญหาทางเพศในสังคม - บีบีซีไทย"
Post a Comment