โควิดทุบตลาดร้านอาหาร 4 แสนล้านซึมยาว ผู้ประกอบการดิ้นปรับตัวจ้าละหวั่น มุ่งลดต้นทุน เพิ่มน้ำหนักรุกออนไลน์-ดีลิเวอรี่ รับนิวนอร์มอล เดินหน้ากระหน่ำโปรฯแรง สงครามราคาระอุ ซื้อ 1 แถม 1 เกลื่อน ส.ภัตตาคารไทยเผย รายเล็ก 5 หมื่นรายเดี้ยง ยอมยกธงขาวปิดกิจการ
ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบกับธุรกิจร้านอาหารในแง่ของยอดขายที่ลดลงแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับกับนิวนอร์มอลที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากจำนวนพื้นที่ขายของร้านต่าง ๆ ที่ลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 50% ตามมาตรการการเว้นระยะห่าง (social distancing) ที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเรื่องของรายได้และต้นทุน และเป็นโจทย์ใหญ่ อีกด้านก็เป็นตัวแปรที่เร่งให้ทุกค่ายต้องเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ “ดีลิเวอรี่” ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
ซีอาร์จี คาดตลาดซึมยาว 2 ปี
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ผู้บริหารร้านเปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, มิสเตอร์โดนัท,เคเอฟซี ฯลฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ประเมินว่าตลาดร้านอาหารมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ในช่วง 1-2 ปีนี้จะอยู่ในภาวะทรงตัว หรือชะลอการเติบโตอยู่ที่ซิงเกิลดิจิต ไม่เติบโตสูงอย่างปีที่ผ่าน ๆ มา อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทางการได้คลายล็อกให้เปิดบริการได้ ธุรกิจร้านอาหารก็ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในแง่ของยอดขาย และปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็หันไปให้ความสำคัญกับออนไลน์หรือดีลิเวอรี่มากขึ้น และมีการแข่งขันที่รุนแรง
สำหรับซีอาร์จี การลงทุนในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีจากนี้ จะเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการหาพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจดีลิเวอรี่ ล่าสุด บริษัทได้เปิดตัวคลาวด์ คิทเช่น สาขาแรกที่นาคนิวาส มีแผนที่จะขยายเป็น 10 สาขาภายในปีนี้ และครบ 50 สาขาในปี 2565 โดยจะมีการเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งแบรนด์ในเครือซีอาร์จีและสตรีตฟู้ดชื่อดัง เพื่อสร้างความหลากหลายและแตกต่างจากผู้เล่นอื่นในตลาด
ปรับตัวลดต้นทุน-รุกดีลิเวอรี่
นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า หลังจากกลับมาเปิดบริการตลาดร้านอาหารมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่ละค่ายเร่งทำแคมเปญและโปรโมชั่นอย่างหนัก รวมทั้งมีการปรับโมเดลในการทำธุรกิจที่หันไปมุ่งในเรื่องของดีลิเวอรี่ แต่คาดว่าธุรกิจจะค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัว ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่
เช่นเดียวกับร้านอาหารในเครือไมเนอร์ อาทิ เดอะพิซซ่า คอมปะนี ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ควีน เบอร์เกอร์คิง ฯลฯ ขณะนี้ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเฉพาะบางสาขา ส่วนสาขาในแหล่งท่องเที่ยวบาง
สาขาต้องชะลอการเปิดไว้ก่อน พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มน้ำหนักช่องทางดีลิเวอรี่ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว นอกจากนี้ บริษัทยังต้องปรับแผนงานใหม่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย ส่วนการขยายสาขาใหม่จะต้องชะลอไว้ก่อน และต้องหันมาโฟกัสแบรนด์ที่ทำรายได้ดี เช่น เดอะพิซซ่า คอมปะนี เบอร์เกอร์คิง บอนชอน เป็นต้น
“เดิมเราอาจจะเน้นเปิดร้านในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่หลังจากนี้จะเปลี่ยนรูปแบบการเปิดสาขา ร้านขนาดเล็ก คีออสก์ และแกร็บแอนด์โก โดยจะเน้นไปเปิดทั้งในพื้นที่ห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงานต่าง ๆ และย่านมหาวิทยาลัย”
สงครามราคาระอุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด จากการสำรวจตลาดร้านอาหารพบว่า แบรนด์ดังหลาย ๆ แบรนด์ได้ทยอยจัดแคมเปญกันอย่างคึกคัก โดยหากสังเกตจะเห็นว่าแคมเปญที่จัดขึ้นจะเน้นในเรื่องของการลดราคาเป็นหลัก เริ่มจากเอ็มเค สุกี้ ที่เน้นการลดราคาชุดสุกี้ต่าง ๆ เช่น ชุดสุดคุ้ม 299 บาท จากปกติ 365 บาท ชุดคุ้มมาก 499 บาท จากปกติ 591 บาท จากปกติที่เน้นการลดราคา 10-15% นอกจากนี้ยังมีการจัดแคมเปญสั่งซื้อชุดสุกี้แถมหม้อฟรีเป็นระยะ ๆ
ขณะที่โออิชิ บุฟเฟต์ จัดโปรโมชั่นเมนูข้าว ซื้อ 1 แถม 1 ในราคา 159 บาท อาทิ ข้าวหน้าหมูพริกไทยดำ ข้าวหน้าหมูพริกเกลือกระเทียม ยากิโซบะหมู เป็นต้น เช่นเดียวกับร้านตำมั่ว ร้านอาหารไทยอีสานในเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น จัดโปรโมชั่นตำยกถาด 1 แถม 1 ส่วนซิซซ์เล่อร์ (ไมเนอร์ฟู้ด) จัดแคมเปญโปรโหดลดแหลก กับซิซซ์เล่อร์ดีลิเวอรี่
เมื่อสั่งชุดอิ่มคู่สุดคุ้ม อาทิ ดับเบิลไก่ย่างสไปซี่ ดับเบิลเวสเทิร์น พอร์กลอยน์ ซุปเห็ด 2 ถ้วย และชีสโทสต์ 2 ชิ้น ราคาเพียง 459 บาท จากราคาเต็ม 1,067 บาท (เพิ่งหมดเขตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม) เป็นต้น
รายเล็กทยอยปิดตัวทะลุ 5 หมื่น
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ทางการได้ประกาศคลายล็อกมาเป็นระยะ ๆ อนุญาตให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า รวมถึงร้านอาหาร ให้กลับมาเปิดให้บริการได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ร้านอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะร้านอาหารแบรนด์ใหญ่ที่เปิดในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า มีแนวโน้ม
ที่ดีขึ้น โดยพบว่ามีลูกค้าเข้าไปใช้บริการมีสัดส่วนประมาณ 60-70% แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังพบว่า ตลาดร้านอาหารที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี, มินิเอสเอ็มอี รวมถึงร้านอาหารที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ เช่น ร้านอาหารในย่านถนนข้าวสาร บางลำพู ฯลฯ เป็นกลุ่มที่ลำบาก เพราะนอกจากรายได้หรือยอดขายที่ลดลงมากแล้ว ร้านอาหารดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนที่เป็นฟิกซ์คอสต์ ทั้งค่าเช่าที่ ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงค่าจ้างพนักงาน ส่วนใหญ่จะอาการหนักและมีแนวโน้มจะปิดตัวมากขึ้น จากปัจจุบันที่คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นราย
แหล่งข่าวระดับสูงจากธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ร้านอาหารในศูนย์การค้าเริ่มกลับมาคึกคัก โดยปัจจุบันมีลูกค้ากลับมาประมาณ 80-85% ซึ่งแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไป ขณะเดียวกันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจร้านอาหาร จะเห็นว่าร้านอาหารรายเล็กของเอสเอ็มอีปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปรับตัวรับมือไม่ทันตั้งแต่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้จะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่จำนวนลูกค้ายังไม่กลับมา เพราะสาขาของร้านอาหารขนาดเล็กส่วนใหญ่จะอยู่นอกห้าง ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนสูงกว่ายอดขายที่ได้
“เมื่อสายป่านไม่ยาวพอ บางร้านเลือกที่จะปิดหน้าร้าน เหลือเพียงการขายแบบซื้อกลับบ้าน (take home) ตลอดจนการนำสินค้าเข้าไปขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือดีลิเวอรี่ แต่ต้องเจอกับปัญหาค่าจีพีที่สูงถึง 30-35% เมื่อแบกรับไม่ไหว ก็ต้องปิดตัวไป”
July 13, 2020 at 07:30AM
https://ift.tt/3iXE06I
ธุรกิจร้านอาหาร 4 แสนล้านอ่วม ปิดตัว 5 หมื่นรายเซ่นพิษโควิด - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/2ZllqOm
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ธุรกิจร้านอาหาร 4 แสนล้านอ่วม ปิดตัว 5 หมื่นรายเซ่นพิษโควิด - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment