Brief :
*วิกฤตโควิด จะทำให้มีหนี้เสียออกสู่ตลาดมากขึ้นและจะเป็นโอกาสให้ BAM รับซื้อหนี้ในราคาส่วนลดเพิ่มไปอีก 1 ปี เพราะซื้อมาต้องพักไว้ 1 ปี กว่าจะเริ่มเก็บหนี้ได้ในปี64 ซึ่งปีหนี้มีแผนซื้อหนี้เข้ามาอีก 12,000 ลบ. โดยมีเงินทุนพร้อมทั้งวงเงินจากแบงก์ และวงเงินออกหุ้นกู้
*NPL ในระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นโยบายภาครัฐหลังครบกำหนดพักชำระหนี้ ซึ่งจะต้องจับตากลุ่มที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ มีทั้งหมดประมาณ 40% ของสินเชื่อทั้งระบบหรือคิดเป็นประมาณ 6.8 ล้านลบ.
*ปีนี้ BAM จะมีการบันทึกกำไรพิเศษจาก Deferred Tax ที่รอรับรู้อยู่ประมาณ 5,800 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องกับผู้สอบบัญชี และจะบันทึกลงในงบภายในครึ่งหลังปีนี้ทั้งหมดในคราวเดียว
*ปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ที่ค้ำรายได้ของ BAM คำนวณแบบอนุรักษ์นิยมจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าหุ้น BAM ณ ราคาตลาดอยู่ประมาณ 2-3 เท่า
*BAM ประเมินรอบของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด น่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีกลับสู่ปกติ ซึ่งจะคล้ายกับอดีตตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี40 ที่ธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาฟื้นเต็มที่ในปี 44-45
ผลพวงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 สมัย “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ทำให้รัฐบาลโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จัดตั้ง บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ขึ้นในปี 2542 เพื่อเข้ามารับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ BBC
ก่อนที่ต่อมา BAM ได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ครอบคลุมการบริหารจัดการ NPL และ NPA ที่ได้มาจากสถาบันการเงินอื่น รวมถึงธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น โดย ณ สิ้นปี 2562 BAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยขนาดสินทรัพย์รวม 1.15 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 49% ของสินทรัพย์รวมในระบบของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ( Asset Management Company : AMC )
จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือเมื่อเดือน ธ.ค.2562 BAM ได้หลุดพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจและกลายเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หลังนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยราคาเสนอขาย IPO อยู่ที่ 17.50 บาท ปรากฎผลตอบรับจากนักลงทุนล้นหลาม ดันราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุด 36.25 บาทในเดือน ก.พ.2563 ปัจจุบันหุ้น BAM ซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 24-25 บาท และมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย 40,580 ราย (ณ วันปิดสมุด 29/05/63) มีมูลค่าตามราคาตลาดรวมประมาณ 80,000 ล้านบาท
“สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร เกี่ยวกับอนาคตของ BAM หลังเข้าตลาดหุ้น รวมถึงโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทฯ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งนักลงทุนและนักวิเคราะห์ล้วนคาดการณ์ว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจ AMC โดยเฉพาะ BAM ในฐานะผู้ประกอบการรายใหญ่สุด สำนักข่าวฯ จะถอดบทสัมภาษณ์แบบ “คำต่อคำ” เพื่อให้นักลงทุนได้นำไปวิเคราะห์อนาคต BAM
***จากวิกฤตโควิด มีโอกาสหรือความเสี่ยงอะไรบ้าง
BAM ถูกมองว่าเป็นบริษัทที่ “สะเทินน้ำ สะเทินบก” กล่าวคือ มีทั้งโอกาสและวิกฤตในคราเดียวกัน ซึ่งจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างเกือบหยุดชะงัก ภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบ รวมถึง BAM ด้วย ทำให้การขายทรัพย์ทำได้ยากขึ้น หรือแม้ขายได้ก็จะได้ในราคาที่ไม่ดีเท่ากับก่อนโควิด
แต่อีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นโอกาส เพราะสถานการณ์ NPL และ NPA ของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 1/63 NPL ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 490,000 ล้านบาท แต่ยังมีลูกหนี้อีกกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้กับธนาคารพาณิชย์ 3-6 เดือน มีทั้งหมดประมาณ 40% ของสินเชื่อทั้งระบบ หรือคิดเป็นประมาณ 6.8 ล้านล้านบาท ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้จะครบกำหนดระยะเวลาการพักชำระในไตรมาส 4/63 ต้องติดตามดูว่าจะมีความสามารถผ่อนชำระได้ต่อหรือไม่
ความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้ ปัจจัยสำคัญจะอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจว่าฟื้นช้าหรือเร็ว หากยังไม่ฟื้นภาคธุรกิจจะซึมยาว ที่สำคัญคือภาคสินค้าเกษตรกับ SME จะเป็นตัวชี้ที่สำคัญเพราะมีผลต่อการจ้างงานของไทยเกินกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งหมด หากการจ้างงาน 2 ภาคนี้ไม่เกิดขึ้น เชื่อว่าทิศทาง NPL ก็จะเพิ่มค่อนข้างมาก
“ก็ต้องวัดกันนะว่าหลังจากครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะมีความสามารถผ่อนต่อได้หรือไม่ ถ้าผ่อนต่อไม่ได้ NPL มันก็จะค่อยๆ ขึ้น ถ้าดูตัวเลขที่แบงก์ชาติเปิดเผยออกมา ผู้ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ มีถึงประมาณ 40% ของสินเชื่อทั้งระบบ … 40% นี่เยอะนะครับ”
“ทิศทางนี้จะเห็นว่าเป็นโอกาสของ AMC คือ BAM ด้วยที่จะมีโอกาสรับซื้อ รับโอน NPL ในระบบมากขึ้น และได้ในราคาที่อาจจะลดต่ำกว่าเมื่อก่อนอยู่บ้าง เพราะว่าการโอนทรัพย์มาปีนี้โอกาสที่เราจะเจรจากับลูกค้ามันมีน้อย ไม่มีใครมีความสามารถชำระ ก็ต้องเริ่มคุยในปีหน้า เพราะฉะนั้น ราคาซื้อมามันก็เลยต้องมีส่วนลดไปเพิ่มนิดนึงเพิ่มไป 1 ปีทำนองนั้น เพราะว่าเราแบกดอกเบี้ยแทน การซื้อ NPL มาเราต้องจ่ายเงินไปก่อน ซึ่งเงินที่เราจ่ายมีต้นทุนทางการเงินอยู่”
***อย่างที่เล่าว่าโควิดอาจจะทำให้เรายังไม่สามารถเจรจาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในปีนี้ ต้องรอไปอีก 1 ปี อยากทราบว่าโดยปกติแล้วมาตรฐานของระยะเวลาในการเก็บหนี้นานกี่ปี
“ปกติเวลาเราซื้อมากองหนึ่ง สมมุติใช้เงิน 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนไม่ใช่ปีเดียว แต่ประมาณ 5-7 ปีถึงจะได้เงิน 1,000 ล้านบาทคืน เพราะฉะนั้น เงินมันต้องเป็นเงินเย็น เราถึงต้องมีการออกหุ้นกู้เพื่อให้เวลาการชำระคืน กับระยะเวลาเรียกเก็บหนี้มันสมดุลกัน"
BAM เคยออกหุ้นกู้หลายช่วงอายุทั้ง 15 ปี, 10 ปี, 7 ปี, 5 ปีก็มีนักลงทุนซื้อตลอด เพราะฉะนั้น ทำให้สบายใจได้ว่าหนี้ที่ซื้อมาสามารถใช้เวลาในการบริหารได้ เพราะเงินที่ระดมทุนมาเป็นหนี้ระยะยาว เนื่องจากลูกค้าที่มาเจรจาไม่ใช่ว่าเป็นการเจรจาชำระทั้งก้อนแต่เป็นการขอผ่อน อย่างน้อยก็เท่าๆ เวลาที่เหลือเดิม บางรายขอผ่อน 10 ปี หรือ 15 ปี เราก็ต้องให้เพราะว่ากำลังความสามารถเขาเป็นอย่างนั้น จะไปรวบรัดให้ชำระหนี้บ้านหมดภายในปี 2 ปีมันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ระยะเวลาคืนทุนของกองที่เราซื้อมาโดยเฉลี่ยคือ 5-7 ปี
***สภาพตลาดหุ้นกู้ในตอนนี้กังวลหรือไม่? และดอกเบี้ยขาลงจะดีต่อ BAM แค่ไหนในแง่ของต้นทุน
ถ้าดูสถานะของบริษัทวันนี้ เชื่อมั่นว่าหุ้นกู้เราจะได้รับความสนใจ เพราะว่าขาประจำที่ซื้อหุ้นกู้ของ BAM จะเป็นสถาบันเกือบทั้งหมด ตอนนี้มีความเข้าใจธุรกิจ AMC ดีขึ้นมาก ตั้งแต่ BAM เข้าตลาดหุ้นรู้สึกว่ามีคนเข้าใจธุรกิจ AMC ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
ส่วนเทรนด์ดอกเบี้ยขาลงเป็นประโยชน์กับ BAM ค่อนข้างมาก เนื่องจากทรัพย์ทุกชิ้นที่ซื้อมา BAM ซื้อโดยอาศัยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ หรือการออกหุ้นกู้ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้มาหลายปีแล้ว ตอนนั้นดอกเบี้ยมันก็สูงกว่าวันนี้ ดังนั้น การที่เทรนด์ดอกเบี้ยลงทำให้ต้นทุนการเงินของเราลงไปด้วย และล่าสุดผู้ถือหุ้นก็เพิ่งจะอนุมัติการออกหุ้นกู้ในปีนี้และปีหน้ารวมวงเงิน 25,000 ล้านบาท เพื่อเอาไว้ซื้อทรัพย์เข้ามา รวมทั้งเอาไว้ชำระหุ้นกู้ที่ต้นทุนสูง เราก็สามารถออกหุ้นกู้นี้ไปชำระหุ้นกู้เก่าได้
"เพราะฉะนั้น อันไหนหุ้นกู้เก่าที่ต้นทุนสูง เราก็ออกหุ้นกู้ใหม่ไปชำระได้ ทำให้ต้นทุนของ BAM ในวันนี้จะดูดีขึ้น ในวันนี้หรือปีหน้าจะดูดีขึ้น เพราะดอกเบี้ยมันขาลง"
***แนวโน้ม NPL ที่จะออกมาจากธนาคารมากขึ้น สถานการณ์ตลาดรับซื้อหนี้จะเป็นอย่างไร มองว่าจะแข่งกันรุนแรงขนาดไหน
มองว่าไม่รุนแรงเท่าไหร่แม้ว่า AMC ทั้งหมดจะมีประมาณ 40 ราย แต่ AMC ที่อยู่ในระบบวันนี้ ที่รับซื้อ รับโอนเหมือน BAM ก็อยู่ประมาณ 4 ราย และเนื่องจาก NPL มีจำนวนค่อนข้างมาก ดังนั้น การจะบอกว่าแย่งกันซื้อจึงไม่ค่อยเกิดและก็คงไม่น่ามี
ทั้งนี้ การขายหนี้เสียของธนาคารเขาจะใช้วิธีประมูล AMC ที่จะเข้าประมูลต้องมีเงินทุนที่มากพอสมควร เพราะอย่างที่เรียนว่าซื้อวันนี้ต้องทิ้งไว้อย่างน้อย หนึ่งปี ไม่ใช่วันนี้จะคุยกับลูกค้าแล้วได้เงินเข้ามาเลย สายป่านต้องจึงต้องยาว เพราะหากซื้อเข้ามาแล้วทำเงินไม่ได้ AMC ก็ไม่รอด เนื่องจากการซื้อมันต้องจ่ายเงินออกไปก่อนเป็นหลักพันล้านหมื่นล้าน
***BAM ประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเมื่อไหร่ เพราะล่าสุดตัวเลข GDP ที่แบงก์ชาติประเมินออกมาปีนี้คาดว่าจะหดตัว 8.1% แย่กว่าครั้งก่อนที่คาดว่าจะหดตัว 5.3%
ประสบการณ์จากอดีตจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีกลับสู่ปกติ อย่างช่วงวิกฤตต้มยํากุ้งปี 40 เศรษฐกิจมาเริ่มฟื้นสู่ปกติในปี 2544-2545 ซึ่ง AMC ใดที่เกิดในช่วงนั้น ปัจจุบันก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วยครั้งนี้ก็เหมือนกัน วิกฤตโควิดแม้ว่าจะสร้างความเสียหายกว้างกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่มองว่ามันก็มีโอกาสฟื้นในช่วง 3-4 ปีเหมือนกัน อย่างตอนวิกฤตไข้หวัดนก ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสัตว์ปีก ธนาคารก็ขาย NPL กิจการค้าสัตว์ปีก ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู ออกมา BAM ก็รับซื้อรับโอนมา แต่วันนี้กิจการค้าสัตว์ปีก ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู ที่อยู่กับ BAM ก็ปรับโครงสร้างหนี้ได้ ธุรกิจเหล่านั้นฟื้นแล้ว
มีอยู่ช่วงหนึ่งธุรกิจโรงสีข้าวเฟื่องฟูในสมัยโครงการรับจำนำข้าว ก่อนที่ต่อมาหนี้จากธุรกิจโรงสีข้าวก็กลายเป็น NPL บริษัทฯ ก็รับซื้อรับโอน วันนี้ก็เชื่อว่าธุรกิจโรงสีข้าวเริ่มจะกลับมา ราคาข้าวเริ่มดีขึ้น บางรายนำโรงสีข้าวไปดัดแปลงทำเป็นธุรกิจอื่น เช่น เป็นที่อบผลไม้ ที่เก็บผลิตภัณฑ์ด้านเกษตร หรือด้านอื่นๆ ซึ่งนี่ก็คือวัฏจักรของธุรกิจ จะใช้เวลา 4-5 ปีกว่าที่ธุรกิจหนึ่งจะฟื้นกลับมา
ภาพในวันนี้ก็จะเห็นว่า ธุรกิจที่เกี่ยวโยงการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากจากสถานการณ์โควิด เช่น โรงแรม อาชีพด้านการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ซึ่งวันหนึ่งก็จะถึงรอบการกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยว BAM ก็เป็นบริษัทที่มีโอกาสด้านนั้น เวลาธุรกิจฟื้นเราก็จะทำผลงานได้ดี
***ปัจจุบัน BAM มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารทั้งหมดเท่าไหร่ ทั้ง NPL และ NPA
NPL ในพอร์ตของเราที่บริหารอยู่ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 450,000 ล้านบาท ซึ่งก็เกือบเท่ากับ NPL ทั้งระบบที่ 490,000 ล้านบาท อยากจะชี้แจงในรายละเอียดว่าในจำนวน 450,000 ล้านบาทที่เป็น NPL นี้เป็น NPL ที่มีหลักประกันอยู่ 200,000 ล้านบาท คิดแบบอนุรักษ์นิยมสมมุติเราเรียกเก็บเงินได้ประมาณ 70% ของมูลค่าราคาหลักประกันจะเก็บได้ประมาณ 140,000 ล้านบาท ตรงนี้หมายความว่าเราจะมีเงินรอเรียกเก็บใน NPL อยู่ที่ 140,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวม NPA ที่บริหารอยู่อีกราคาประเมินอยู่ที่ 55,000 บาท นั่นก็เท่ากับว่าเรามีทรัพย์หรือมีเงินที่รอเรียกเก็บข้างหน้าอยู่ร่วมๆ 200,000 ล้านบาท อันนี้คือพอร์ตที่ BAM ถืออยู่ในวันนี้
“ผมมักจะเทียบ BAM กับกอง REIT ซึ่งจะเหมือนกันตรงที่ REIT นำทรัพย์สินที่มีรายได้อยู่ในนั้นเข้ามารวมกัน แล้วขายเป็นหน่วยลงทุนกับผู้สนใจลงทุน ส่วนใหญ่ราคาขายจะเท่าๆ กับราคาประเมินทรัพย์ แต่ของ BAM ถ้าดูหุ้น BAM รวมทั้งหมดแล้วมูลค่า ณ ราคาตลาดอยู่ประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาทเอง ทั้งๆ ที่ของที่ Back บริษัทอยู่หรือ Back หุ้นตัวนี้อยู่ มีมูลค่าถึงประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งมันก็จะต่างกับกอง REIT หน่อยนึงตั้งประมาณ 2-3 เท่าของมูลค่าหุ้น”
***เป้าหมายรับซื้อหนี้ปี 2563
เรามีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์อยู่ค่อนข้างมากเป็นหมื่นล้านบาท ล่าสุดผู้ถือหุ้นก็อนุมัติให้ออกหุ้นกู้เพื่อไปซื้อหนี้เสียช่วงนี้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท ดังนั้น กำลังซื้อของเราค่อนข้างสูง แต่เราก็ไม่ซื้อเกินกำลังที่เราจะทำ เพราะเราต้องบริหารต้นทุนให้ดี
“เราตั้งเป้าว่าปีนี้เราพยายามจะซื้ออยู่ประมาณ 12,000 ล้านบาท ก็อยู่ในเป้าหมายที่เราคิดว่าน่าจะทำได้ ตอนนี้เราซื้อไปแล้วประมาณ 7,800 ล้านบาท แต่นี้ไม่ใช่เป็นเป้าตายตัว เพราะว่าการที่จะซื้อ NPL NPA มากหรือน้อยเราไม่ใช่คนกำหนด แต่เป็นสถาบันการเงินที่กำหนด ว่าเขาจะจัดกองมาขายเท่าไหร่ ซึ่งที่ผ่านมา BAM จะซื้อได้ประมาณครึ่งหนึ่งของที่เขาขาย”
***เป้าหมายรายได้ปี 2563
ปี 2563 รายได้ Q1/63 ที่ประกาศไปแล้วนั้นจะเห็นว่าได้รับผลกระทบจากโควิดเล็กน้อย เนื่องจากโควิดมาเริ่มกระทบอย่างชัดเจนใน Q2/63 คือในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ลูกค้าเราได้รับผลกระทบเราก็ต้องช่วยลูกค้าด้วย ทั้งออกมาตรการพักหนี้ ลดเงินผ่อน พักชำระดอกเบี้ย พักชำระต้นเงิน ตามที่เขาได้รับผลกระทบ ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : BAM เผย Q1/63 กำไร 698 วูบ 78% เหตุปรับมาตรฐานบัญชี-ไม่มีขายสินทรัพย์
อย่างโรงแรมที่ปรับโครงสร้างกับ BAM จากเดิมที่ Room Rate ช่วงสูงสุดอยู่ที่ 80-90% ของห้องพักทั้งหมด ลดลงมาเหลือไม่ถึง 5% เมื่อรายได้ลดเขาก็มาขอปรับเงินผ่อนส่ง บางรายก็ปรับแล้ว เดือนหน้าก็มาขอไม่จ่ายจนกว่าจะพ้น 6 เดือนไปค่อยมาเริ่มผ่อนปกติ อันนี้ก็ต้องช่วย เพราะว่าความสามารถเขาลดลงจริงๆ
“Q2/63 ได้รับผลกระทบครับ แม้ว่ารายรับของเดือนมิถุนายนเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่า Q3, Q4 ก็คงจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว คงไม่เท่าปีที่แล้ว...เราพยายามทำ (รายได้) ให้ใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด”
ข้อดีของ BAM คือการมีทรัพย์สินอยู่ค่อนข้างหลายประเภท ไม่ได้มีแค่คอนโดมิเนียมกับบ้านเดี่ยว แต่ยังมีที่ดินเปล่า มีบ้านขนาดเล็ก บ้านขนาดใหญ่ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนั้น รายได้ของ BAM ก็กระทบอยู่เหมือนกันแต่ก็จะมีรายได้จากส่วนที่กระทบน้อยเข้ามาชดเชย ยกตัวอย่างเช่น ช่วงโควิดคนหันมาสนใจซื้อบ้านเดี่ยว มากกว่าคอนโดฯ เพราะเขามีความรู้สึกว่าปลอดภัยจากไวรัสมากกว่า
นอกจากนี้ BAM ขายทรัพย์ในช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อทรัพย์ BAM ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีพันธมิตรอย่าง Shopee นำทรัพย์ไปโพสต์ขายอยู่ในเว็บก็ช่วยเพิ่มยอดขายเข้ามา และ BAM ก็จะเสนอขายราคาพิเศษ มีมาตรการกระตุ้นให้มีการโอนไวขึ้น รวมทั้งให้ส่วนลดพิเศษต่างๆ เหล่านี้ก็จะช่วยให้ยอดขายไม่ลดลงมาก
***โมเดลขายทรัพย์ออนไลน์นอกจากจับมือกับทาง Shopee เห็นว่าปี64 จะมีแพลตฟอร์มของ BAM เอง
ตอนนี้ของเรากำลังเตรียมที่จะพัฒนา ด้านระบบไอทีเรา เราเรียกว่า “ไอทีมาสเตอร์แพลน” ก็ไม่ได้เฉพาะเรื่องการตลาดอย่างเดียวนะ เรื่องของระบบ เรื่องของลำดับขั้นตอนการทำงาน กระบวนการทำงานให้มันสั้นขึ้น รวมทั้งมีเรื่อง Big Data เข้ามา อะไรที่มันซ้ำซ้อนเราก็จะย่อมันลงมา การขายก็จะกว้างขึ้น ก็เชื่อว่าอันนี้อยู่ในแผนที่จะทำแพลตฟอร์มของเราด้วย เพื่อให้การขาย การตลาด เรื่องของการบริการลูกค้าดีขึ้นกว่านี้ เพราะว่าคีย์สำคัญของการดำเนินงานธุรกิจเรา เรื่องเวลานี่สำคัญเพราะเวลาสั้นลง ต้นทุนก็น้อยลง (ลงทุนเท่าไหร่คะ แพลตฟอร์มใหม่) เรามีงบประมาณอยู่ประมาณ 400-500 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ปีเดียวนะครับ แผนงานเป็นเป็น 3 ปี ก็จะทยอยลงทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : BAM จับมือ Shoppee รุกขายทรัพย์ออนไลน์ ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 1 พันลบ.
***วิกฤตโควิด ทำให้คนหันมาสนใจบ้านมือสองมากขึ้นหรือไม่ เพราะคนอาจจะอยากประหยัดเงิน
ก็ด้วย..ประการหนึ่งเนื่องจากบ้านมือ 1 ราคาจะต่างจากบ้านมือ 2 ในตลาดปกติอยู่ประมาณสัก 30-40% แต่ในวันนี้บ้านมือ 1 เองราคาก็ปรับลงนะ คอนโดฯ มีการลงราคาประมาณ 20-30% เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคอนโดฯ เราก็ลงราคาด้วย เราก็มีราคาพิเศษออกไปดึงดูดลูกค้าให้สามารถซื้อได้ เราก็ใช้มาตรการราคาด้วยเหมือนกัน รวมทั้งมันคนละตลาดกับมือ 1 คือบ้านมือ 2 ราคามันจะต่ำกว่า เพราะฉะนั้น ความสามารถคนวันนี้ลดลง ก็อาจจะหันมามองบ้านมือ 2 เป็นบ้านหลังแรกของเขาก่อน พออีก 4-5 ปีมีกำลังแล้วค่อยไปซื้อบ้านมือ 1 ดังนั้น ก็เป็นโอกาสของบ้านมือ 2 ที่จะขายในยุคนี้เหมือนกัน
(แต่เท่าที่ดูตัวเลข อาจจะไม่ได้ขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญใช่ไหมคะ?) ครับ คือกำลังซื้อต้องยอมรับว่าช่วงนี้ คนก็ยังกังวลในเศรษฐกิจอยู่ แม้ว่าเราจะยงไม่ตกงาน ก็ยังกังวลว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ปีหน้าจะเป็นอย่างไร ความไม่แน่นอน ทำให้เขาชะลอการซื้อลง ดังนั้น เราก็ต้องมีอะไรจูงใจเขา เช่น ที่ดินเปล่าช่วงนี้ เราก็ต้องออกมาตรการที่ว่าเป็นการซื้อลงทุน เมื่อเวลาเศรษฐกิจฟื้นคุณหาทรัพย์ราคานี้ไม่ได้นะ ก็เป็นโอกาสที่เขาจะมาชอปปิงสำหรับคนที่มีเงินเย็น
***เห็นมีการพูดถึงเรื่อง Deferred Tax ที่รอบันทึกลงบัญชี ตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นใหม่ๆ สรุปแล้วจะยังมีการบันทึกรายการนี้อยู่หรือไม่ และเมื่อไหร่
“เรามี Deferred Tax ที่รอรับรู้อยู่ประมาณ 5,800 ล้านบาท แต่เราต้องรอความแน่นอนในการเช็คสอบ รวมทั้งทำความเข้าใจกับผู้สอบบัญชี เนื่องจากการลงบัญชีต้องลงในคราวเดียวทั้งก้อน เพราะฉะนั้น การลงจึงต้องมีความมั่นใจว่ามันถูกต้อง เมื่อมีความมั่นใจแล้วถึงจะบันทึกลงไปในระบบบัญชีเป็นกำไรสุทธิ ซึ่งก็มีความพยายามตั้งใจที่จะบันทึกในปีนี้ รอแค่เช็คสอบ”
***นักลงทุนฝากถามว่า เมื่อไหร่ที่ราคาหุ้นจะฟื้นตัวไปใกล้ๆ ระดับไฮเดิมที่ 30+บาท
“ก็ต้องรอ...รอโอกาสอีกโอกาสหนึ่งมา คือโอกาสเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ตอนนั้น BAM ก็จะได้อานิสงส์จากทรัพย์ที่เราถืออยู่ แล้วก็กอง NPL หรือ NPA ที่เราซื้อเข้ามาเพิ่มช่วงนี้ มันจะต้องออกดอกออกผลตอนเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ปกติ เราก็จะทำมาหากินได้ง่ายขึ้น ขายของดีขึ้น ประนอมหนี้ เจรจาลูกค้ามีผลสำเร็จมากขึ้น ลูกค้ามีโอกาส มีกำลังผ่อนมากขึ้น รวมทั้งแบงก์เองก็ปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น มันจะไปเอื้อต่อการเงินธุรกิจของ BAM ในวันที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู วันนั้นแหละที่ BAM จะทำ ทำรายได้เพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่”
***ภาพของหุ้น BAM ในมุมมองคุณบรรยง
“หุ้น BAM ในความคิดผมนะครับ น่าจะเป็นหุ้นที่เน้นปันผล อย่างที่เรียนคือเรามีของที่รอเรียกเก็บอยู่ วันนี้นะ ประมาณ 200,000 ล้านบาท ใช่ไหม เราก็รอเรียกเก็บ รอปันผล เราไม่เอาเติบโตแบบที่ไม่ยั่งยืน เราค่อยๆ โตดีกว่านะครับ”
“จะเห็นว่าจริงๆ ถ้าจะซื้อ NPL เราเร่งซื้อก็ได้ แต่เราต้องคิดถึงวันข้างหน้าด้วย ซื้อพอดีๆ โตมากไปก็เป็นภาระที่จะบริหาร ต้องเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยเราต้องแบกนะ เราไม่ได้ได้มาฟรี เราต้องไปซื้อเขา แล้วก็ต้องจ่ายเงินก่อน ทุกอย่างมันก็ต้องค่อยๆ โต แล้วก็ตามกำลังความสามารถที่มันจะไปได้ แล้วก็เป็นหุ้นที่เน้นระยะยาว เน้นความยั่งยืน เน้นผลตอบแทน คงไม่ได้บอกว่าหุ้น BAM จะพุ่งเป็น 30-40 บาทในไม่กี่วันนี้ คงไม่ใช่ แต่เป็นหุ้นที่น่าจะมีความยั่งยืนมากกว่า”
***BAM วางกลยุทธ์การเติบโตในช่วง 3 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร
อย่างแรกคือเพิ่มสินค้าในช่วงนี้ ทั้ง NPL และ NPA ตามกำลังที่เราคิดว่า เราบริหารได้ คือ ไม่เป็นภาระหนี้จนเกินไป แล้วเป็นการรองรับการเติบโตวันข้างหน้า อันนี้เป็นโจทย์ที่ผู้บริหารจะต้องทำ กับอีกเรื่องคือการพัฒนาเรื่องของบุคลากร มีการให้ทุนการศึกษาเรียนต่อต่างประเทศ ทั้งนี้เราเตรียมพัฒนาคนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของทิศทางเศรษฐกิจ รองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เราจะเดินด้วย
“เราจะขยายธุรกิจมากกว่าที่จะทำเฉพาะ NPL และ NPA ตอนนี้กฎหมายของ AMC อนุญาตให้เราบริหารได้นอกจากแค่รับซื้อ รับโอน ซึ่งคำว่าบริหารมันกว้าง ในอนาคตเราสามารถที่จะร่วมทุนกับเอกชนได้ ร่วมทุนกันบริหารโครงการแยกเป็นอีกบริษัทได้ ตั้งโฮลดิ้งได้ อะไรต่างๆ พวกนี้มันอยู่ในแผนงาน”
***ดูเหมือน BAM เตรียมพัฒนาคนรองรับโมเดลหารายได้จากช่องทางใหม่ๆ
ใช่ หารายได้จากช่องทางใหม่ๆ เข้ามา ถ้าเป็นธนาคารเราเรียกว่า fee base income คือ พวกค่าธรรมเนียม เช่น วันนี้เราขายทรัพย์ของเรา แต่ความสามารถของ BAM คือการประเมินราคา การวิเคราะห์ว่าทรัพย์นั้นทำอะไรได้ประโยชน์สูงสุด อันนี้เราสามารถให้บริการคนทั่วไปได้ โดยคิดรายได้ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ เช่น มีเจ้าของที่แปลงหนึ่งเขาอยากทราบว่าที่ของเขาทำประโยชน์อะไรได้สูงสุด และราคามันอยู่ประมาณเท่าไหร่ BAM ให้คำปรึกษาได้ นี่คือแผนในอนาคต
***แล้วเรามองเรื่องการโตแบบ inorganic บ้างไหม เช่น ไปซื้อ AMC หรือทำดีล M&A
"มอง...ตอนนี้ที่เราคิดกันอยู่ก็คือ อาจจะจัดโครงสร้างธุรกิจ ที่พูดนี่มันน่าจะเป็นโครงสร้างธุรกิจในวันข้างหน้า อาจจะมีบริษัทลูก BAM ก็ได้ เป็นไปได้ร่วมทุนกับเอกชนบางราย ในการพัฒนาอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วก็แบ่งกำไรกัน หรือว่าจัดโครงสร้างให้มีโฮลดิ้ง หรืออะไรต่างๆ มันสามารถจัดโครงสร้างธุรกิจให้รองรับในวันข้างหน้าได้ ที่เกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้น”
***สุดท้ายก่อนจากลากันไปขออีก 1 คำถาม อยากทราบข้อดีและข้อเสียของการพ้นจากบริษัทรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว
แน่นอนทุกอย่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือการบริหารเป็นมืออาชีพมากขึ้น โปร่งใส เพราะว่าอยู่ในตลาดหุ้นแล้ว มีคนคอยตรวจสอบทั้งตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. ผู้สอบบัญชี การบริหารเราต้องดี เพราะว่ามีกติกาหลายอย่างกำกับ และเราก็คล่องตัวขึ้น เช่น การรีโนเวททรัพย์เดิมมี 7 ขั้นตอน (ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง) กว่าจะได้คนมาทำงาน ตอนนี้เหลือ 3 ขั้นตอน คือเราสามารถกำหนดเองได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ยังคงต้องยึดหลักการมีธรรมาภิบาล
ข้อเสียคือ การที่มีภาครัฐอยู่ คนมองว่ามีความมั่นคง ดังนั้นเรตติ้งของบริษัทจะได้ระดับ A เพราะว่าถือว่าเป็นเรตติ้งของรัฐบาล เรตติ้งของประเทศ แต่เมื่อมาเป็นเอกชนเราต้องพึ่งตัวเอง ผลงานอยู่ที่ตัวเลขที่บริษัททำได้ทั้งการเรียกเก็บเงินสด อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน อัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น ใช้ประกอบในการกำหนดเรตติ้ง ดังนั้น ข้อเสียคือ ถ้าหลุดจากภาครัฐแล้วจะไม่ได้เรตเดิม แนวโน้มมันก็ขยับลงมาบ้าง แต่ถ้าเรามีผลงานที่ดีมันก็กลับขึ้นไปที่เดิมได้
"เราตัดสินใจชั่งน้ำหนักก่อนที่ BAM จะเข้าตลาด การเข้าตลาดมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และธุรกิจแบบนี้ อย่างโบรกเกอร์ ธุรกิจขายของ ขายบ้านมือสอง รีโนเวททรัพย์ ธุรกิจที่ปรึกษาการเงิน การเจรจาลูกหนี้ มันเป็นเนื้อธุรกิจที่เป็นเอกชน โดยเนื้อของธุรกิจเนี่ย BAM จึงออกมาเป็นเอกชน แล้วก็มีความคล่องตัว มีอะไรมากขึ้น แต่แน่นอนมันมีข้อเสียก็คือเรื่องการที่หลุดจากภาครัฐ คนอาจจะมองว่า มีความมั่นคงน้อยลงหรือเปล่า อันนั้นเป็นเรื่องของการ ใช้ดุลยพินิจ อยู่ที่ผลงานเราในอนาคต"
0 Response to "ส่องอนาคต BAM ยักษ์ใหญ่รับซื้อหนี้ในไทย - efinanceThai"
Post a Comment