โรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปเกือบทุกประเทศบนโลก แต่มี 10 ประเทศ ที่ยังปลอดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ผู้คนที่นั่นมีความเป็นอยู่อย่างไรกันบ้าง
โรงแรม เดอะปาเลาโฮเทล เปิดกิจการครั้งแรกเมื่อปี 1982 และคำว่า "เดอะ" ก็เน้นย้ำได้ดีเพราะนี่เป็นโรงแรมแห่งเดียวในประเทศปาเลา
จากนั้นเป็นต้นมา ประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์แห่งนี้ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากมาย
ในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่นี่ 90,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรที่มีอยู่ถึง 5 เท่า เมื่อปี 2017 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ระบุว่า 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มาจากการท่องเที่ยว
แต่แล้วก็เกิดวิกฤตโควิด-19
ปาเลาปิดพรมแดนประเทศตั้งแต่ปลาย มี.ค. และเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศทั่วโลกที่ยังไม่มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ไม่รวมเกาหลีเหนือและเติร์กเมนิสถาน)
แต่แม้ไม่มีผู้ติดเชื้อสักคน ประเทศก็ได้รับผลกระทบร้ายแรง
ร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกต่าง ๆ ก็ปิดหมด โรงแรม เดอะปาเลาโฮเทล ปิดกิจการตั้งแต่เดือน มี.ค. และแขกที่พักที่นั่นก็มีแต่คนจากปาเลาที่ต้องกักตัวหลังจากเดินทางกลับมาจากที่อื่น
ประเทศที่ไม่มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว
- ปาเลา
- ไมโครนีเซีย
- หมู่เกาะมาร์แชลล์
- นาอูรู
- คิริบาตี
- หมู่เกาะโซโลมอน
- ตูวาลู
- ซามัว
- วานูอาตู
- ตองกา
"มหาสมุทรที่นี่สวยกว่าที่อื่น ๆ ในโลก" ไบรอัน ลี ผู้จัดการและเจ้าของร่วมของเดอะปาเลาโฮเทล
ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ห้องพัก 54 ห้องของโรงแรมมีคนเข้าพักราว 70%-80%
เขามีพนักงานทั้งหมด 20 คน และก็ยังจ้างงานพวกเขาอยู่แม้จะลดชั่วโมงทำงาน "ผมพยายามจะหางานให้พวกเขา งานบำรุงรักษา ตกแต่งเพิ่มเติม และอื่น ๆ"
แต่เขาก็ไม่สามารถบำรุงรักษาและตกแต่งโรงแรมได้ตลอดไป "ผมอยู่ได้อีกสักครึ่งปี จากนั้นคงต้องปิดกิจการ"
ไบรอันไม่โทษรัฐบาล เพราะรัฐบาลทั้งให้เงินช่วยเหลือและที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้ไวรัสระบาดมาถึงได้
ประธานาธิบดีของปาเลาบอกว่าอาจจะให้กลับมามีการเดินทางโดยเครื่องบินภายในวันที่ 1 ก.ย. และก็มีข่าวลือว่าจะอนุญาตให้มีการเดินทางไป-มาระหว่างปาเลาและไต้หวันได้
แต่ไบรอันก็บอกว่ายังช้าไป และต้องเปิดให้มีการเดินทางเร็วกว่านั้น อาจจะกับเฉพาะกลุ่มประเทศอย่างนิวซีแลนด์
หมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันออกของปาเลาเป็นระยะทาง 4,000 กิโลเมตร ก็เช่นกัน
ที่กรุงมาจูโร เมืองหลวงของหมู่เกาะมาร์แชลล์ซึ่งเป็นเกาะรูปวงแหวนที่เกิดจากหินประการัง โรงแรมโฮเทลโรเบิร์ตเรเมอร์ ซึ่งมีห้องพัก 37 ห้อง มีคนเข้าพักราว 75%-88% โดยแขกส่วนใหญ่มาจากเอเชีย, ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และสหรัฐฯ
แต่หลังจากปิดประเทศ อัตราแขกเข้าพักเหลือ 3%-5%
คาดว่าจะมีคนตกงานในประเทศมากกว่า 700 คน ซึ่งถือว่าย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่ปี 1997 ในจำนวนนี้ 258 คน เป็นคนที่ทำงานในภาคธุรกิจโรงแรม
แต่การต้องกักตัวเองส่งผลกระทบมากกว่าการท่องเที่ยวเสียอีก หมู่เกาะมาร์แชลล์ไม่ได้พึ่งนักท่องเที่ยวเท่าปาเลา ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือกิจการประมงของประเทศ
เรือประมงจากประเทศที่มีคนติดเชื้อถูกห้ามไม่ให้เข้ามาจอดเทียบท่าเรือของประเทศ ส่วนเรือประเภทอื่น ๆ ก็ต้องกักตัวเองถึง 14 วันก่อนจะเข้ามาได้
หมู่เกาะมาร์แชลล์พึ่งการขายปลาเลี้ยง อาทิ ปลาเฟลมแอนเจิล แต่ยอดส่งออกลดลงไปถึง 50% นอกจากนี้การส่งออกเนื้อปลาทูน่าดิบบนฝั่งก็ลดลง 50% เช่นกัน
สรุปง่าย ๆ คือ แม้ว่าจะสกัดโรคโควิด-19 ไว้ได้ แต่ผลกระทบยังเกิดขึ้นได้ในรูปแบบอื่น
โซเฟีย ฟาวเลอร์ จากกลุ่มโรงแรมโฮเทลโรเบิร์ตเรเมอร์ บอกว่าหากสถานการณ์ไม่กลับมาเป็นปกติในปีหน้า โรงแรมก็ไม่สามารถไปต่อได้
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่อยากให้ประเทศกลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้ง
ดร.เล็น ทาริวอนดา เป็นผู้อำนวยการหน่วยงานสาธารณสุขของวานูอาตู ซึ่งมีประชากร 3 แสนคน เขามาจากเกาะแอมเบ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือไปราว 270 กิโลเมตร ซึ่งมีประชากร 10,000 คน
"หากคุณคุยกับชาวบ้านที่นั่น (บนเกาะแอมเบ) ส่วนใหญ่จะบอกว่าปิดพรมแดนไปให้นานที่สุด พวกเขาไม่อยากให้โรคแพร่ระบาดมาถึง"
ดร.ทาริวอนดา บอกว่า คนที่เกาะยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบ ส่วนใหญ่คนที่นั่นทำไร่ทำนาปลูกหาอาหารด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ดี ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของวานูอาตูจะลดลงเกือบ 10% ซึ่งถือว่าตกต่ำที่สุดตั้งแต่วานูอาตูได้รับเอกราชเมื่อปี 1980
แต่นี่ก็ไม่ได้เกิดจากโควิด-19 อย่างเดียว เมื่อเดือน เม.ย. พายุไซโคลนเขตร้อนฮาโรลด์ ทำให้ประเทศเสียหาย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และส่งผลกระทบต่อประชากรมากกว่าครึ่งของประเทศ
กระนั้นก็ตาม โรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบในระยะยาวมากกว่า
หลังจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รัฐบาลต้องยกเลิกแผนที่เคยคิดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศ "ปลอดภัย" เหล่านั้นภาย 1 ก.ย.
แม้ 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของวานูอาตู จะมาจากการท่องเที่ยว แต่วานูอาตูก็จะไม่รีบเปิดประเทศ ดร.ทาริวอนดา ยกปาปัวนิวกินี เป็นตัวอย่าง ในช่วงแรกไม่มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เลย แต่กลับมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นช่วงในปลาย ก.ค.
"หากไวรัสมาถึง มันคงจะเหมือนกับไฟป่าที่พร้อมลุกลาม"
แล้วมีอะไรที่ประเทศที่ไร้ผู้ติดเชื้อจะสามารถทำได้ในตอนนี้ ?
ในระยะสั้น คงต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากทางการให้แก่แรงงานและภาคธุรกิจต่าง ๆ แต่ถึงที่สุดแล้วคงต้องรอวัคซีน
ระหว่างนี้ การกำหนดประเทศปลอดภัยที่สามารถเดินทางไปมาได้อาจจะเป็นความหวังเดียว แต่รอมเมล ราบานัล จากธนาคารพัฒนาเอเชีย บอกว่ามันซับซ้อนกว่านั้น เพราะถึงอย่างไรก็ต้องอาศัยมาตรการต่าง ๆ อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นระบบสืบหาผู้เสี่ยงติดเชื้อ และสถานที่กักตัว
โจนาธาน ไพค์ ผู้อำนวยการโครงการหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกของสถาบันโลวีในออสเตรเลีย บอกว่า ถึงแม้ว่าประเทศหมู่เกาะเหล่านี้จะเปิดประเทศ แต่จะก็ไม่ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่จากนิวซีแลนด์และออสเตรเลียเข้ามา ดังนั้นจึงเท่ากับต้องเผชิญผลพวงทั้งขึ้นทั้งล่องคือวิกฤตโรคโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ
August 24, 2020 at 05:10PM
https://ift.tt/32jJHV0
โควิด-19 : เกิดอะไรขึ้นใน 10 ประเทศในโลกที่ไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เลย - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2ZllqOm
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19 : เกิดอะไรขึ้นใน 10 ประเทศในโลกที่ไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เลย - บีบีซีไทย"
Post a Comment