เศรษฐกิจ-โควิดคายพิษไม่หยุด ธุรกิจใหญ่-เล็กกุมขมับเจอแจ็กพอตทถ้วนหน้า ลูกค้า-คู่ค้าเงินขาดมือ เจอปัญหาเบี้ยวหนี้-ร่อนจดหมายขอผัดผ่อนชำระ ชี้วิกฤตขยายวงจนน่าห่วงลามจากภาคท่องเที่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกระทบ “ค้าปลีกค้าส่ง” ตั้งแต่ของกินของใช้ วัสดุก่อสร้าง อะไหล่รถ ยันสินค้าไอที ผู้ประกอบการตั้งการ์ดสูง สกรีนเครดิตเข้ม แห่ปรับแผนทำธุรกิจแบบ “เงินสด-งดเครดิต” เผยต่างจังหวัดปัญหาหนักไม่น้อยหน้าเมืองกรุง
สถานการณ์เศรษฐกิจกับไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบภาคธุรกิจไม่หยุด นอกจากภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งระบบที่ถูกกระทบโดยตรงแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมสร้างปัญหาและก่อให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจอีกหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง แม้กระทั่งห้างค้าปลีก ค้าส่งสินค้าไอที อะไหล่รถยนต์ ฯลฯ จากหลายสาเหตุทั้งรายได้ลดลงเนื่องจากยอดขายตกต่ำลงมาก ขายสินค้าให้กับลูกค้าหรือคู่ค้าแล้วถูกหนีหนี้ ขอผัดผ่อนการชำระ เป็นต้น น่าห่วงว่าปัญหาเบี้ยวหนี้ ไม่มีเงินจ่ายค่าสินค้าและบริการจะลามกระทบเป็นลูกโซ่
ค้าส่งไอทียืดเครดิตต่อลมหายใจ
แหล่งข่าวจากผู้ค้าปลีกและค้าส่งสินค้าไอทีเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังมาตรการคลายล็อกดาวน์พบว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะกำลังซื้อจากตลาดต่างจังหวัดที่ซึมลงชัดเจน ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าไอทีรายย่อยหลายรายเริ่มออกอาการ โดยบางรายจำเป็นต้องปิดกิจการ เพราะไม่มีเงินทุน ขณะที่บางรายเริ่มเจรจากับซัพพลายเออร์ขอยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ให้ยาวขึ้น เพื่อประคองให้ธุรกิจเดินต่อ และปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณหนี้เสียจากร้านค้าปลีกสินค้าไอทีรายย่อยแล้ว เนื่องจากสภาพคล่องทางการเงินลดลง
“ที่ผ่านมาแบรนด์สินค้าไอทีเข้ามาซัพพอร์ตกลุ่มผู้ค้าส่งสินค้าไอที แต่เป็นในลักษณะการจัดโปรโมชั่น และเพิ่มระยะเวลาการจ่ายหนี้ แต่ถ้าไม่ได้ช่วย กรณีผู้ค้าส่งปล่อยเครดิตให้รายย่อยไปแล้วมีปัญหา ทำให้ค้าส่งบางรายปรับมาขายสินค้าด้วยเงินสดเพื่อป้องกันหนี้เสีย”
ด้านนายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ผู้ค้าปลีกและค้าส่งสินค้าไอทีกล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องเข้าไปช่วยเหลือดีลเลอร์ ซึ่งเป็นร้านแฟรนไชส์แอดไวซ์บางส่วน เช่น ยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ให้ยาวขึ้น และปล่อยกู้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและประคองให้คู่ค้าเดินหน้าต่อได้
ของกินของใช้ไม่รอดวังวน
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชเปิดเผยว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีคู่ค้าของบริษัทหลาย ๆ ราย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร-โรงแรม จำนวนหนึ่งที่ส่งจะหมายขอยืดระยะเวลาการชำระค่าสินค้าออกไป 3-4 เดือน จากปกติที่เทอมการชำระเงินจะอยู่ที่ 30 วัน 45 วัน และ 60 วัน หรือบางรายก็ขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปแบบไม่มีกำหนด โดยรอให้สถานการณ์การค้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อน นอกจากนี้ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่เงียบหายไปเลย และไม่มีการติดต่อเพื่อเจรจาเรื่องหนี้แต่อย่างใด โดยจำนวนยอดหนี้ดังกล่าวมีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจของคู่ค้า
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในภาคอีสานยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงมากตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา บวกกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้มีการเลิกจ้างงานจำนวนมาก ส่งผลกระทบถึงธุรกิจค้าปลีกค้าส่งโดยตรง เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย จับจ่ายน้อยลง หรือเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น และจากยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง บวกกับสต๊อกสินค้าที่มีอยู่มาก ทำให้ยี่ปั๊วซาปั๊วหลาย ๆ รายขาดแคชโฟลว์ ที่ผ่านมาจึงมีการเจรจากับซัพพลายเออร์ เพื่อขอยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ออกไปเป็น 45-60 วัน จากปกติเครดิตการชำระหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 30 วัน ซึ่งซัพพลายเออร์หลาย ๆ รายก็ผ่อนปรนให้ และมีการปรับเงื่อนไขเพื่อช่วยยี่ปั๊วซาปั๊วหลาย ๆ เรื่อง บางรายก็ผ่อนปรนให้ไปจนถึงสิ้นปี
ธุรกิจเหล็กดึงจ่ายเงิน
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังผู้ค้าเหล็กหลาย ๆ รายต่างกล่าวตรงกันว่า ขณะนี้แม้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายลง แต่ผู้ค้าเหล็กประเภทต่าง ๆ ทั้งเหล็กเส้น-เหล็กแผ่น-ท่อเหล็ก ต่างระมัดระวังในการจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นรายเก่าหรือรายใหม่ เนื่องจากลูกค้าหลายรายประสบปัญหาสภาพคล่องในช่วงโควิด งานน้อยลง บางงานผู้ว่าจ้างก็ยังไม่จ่ายชำระค่างวด ทำให้กระทบมาถึงผู้จัดหาเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการก่อสร้าง
“ตอนนี้เราต้องสกรีนลูกค้าเป็นราย ๆ ไป ดูหลายอย่าง เคยติดหนี้มั้ย เครดิตเป็นอย่างไร ไปจนกระทั่งถึงรับเหมางานประเภทไหน ของรัฐหรือเอกชน มีสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงโควิดแล้วว่า ลูกค้าดึงการจ่ายเงินนานขึ้น จากปกติประมาณ 90 วัน ตอนนี้ดึงไปถึง 120-150 วันก็มี ผู้รับเหมารายใหญ่ ๆ ระดับประเทศทั้งนั้นโครงการก่อสร้างภาครัฐยังไม่น่าเป็นห่วงเพราะสุดท้ายรัฐก็ต้องจ่าย อาจจะช้าหน่อย แต่ได้เงินแน่ แต่โครงการเอกชนที่ต้องใช้เหล็กแยะ ๆ นี่น่ากลัวมาก ล้มแล้วล้มเลย ก็จะดึงจ่ายเงินกันเป็นทอด ๆ” ผู้ค้าเหล็กรายหนึ่งกล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะไม่ขายเหล็กให้ แต่ต้องดูลูกค้า ถ้าเป็นลูกค้าใหม่เข้ามา ขอซื้อปริมาณเหล็กมากหรือน้อย “อันนี้ก็ต้องขอเป็นเงินสดชำระทันทีเลย” แต่ถ้ากรณีเป็นลูกค้าเก่า เริ่มชำระไม่ตรงเวลา “ก็ต้องขอดูก่อนว่า ถ้าปล่อยเหล็กออกไปเสี่ยงมั้ย ของเก่ายังจ่ายไม่ครบ มาเอาของใหม่อีก แบบนี้เราจะใช้วิธีขึ้นราคาเหล็ก เพื่อให้เค้าไปซื้อกับเจ้าอื่น เป็นการลดความเสี่ยงของเรา” ผู้ค้าส่งอีกรายหนึ่งกล่าว
ธุรกิจ ตจว.ตั้งการ์ดสูงกันเหนียว
นายสมเกียรติ ปิติภาคย์ตวงสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อันดามัน เซาท์ โคสท์ ทราเวล จำกัด ผู้ประกอบการรถทัวร์ท่องเที่ยวรายใหญ่จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่าบริษัทมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ และลูกหนี้ ส่วนในฝั่งที่เป็นเจ้าหนี้ที่ผ่านมา บริษัทเอเย่นต์ทัวร์ทั้งจีนและยุโรปได้ขอผ่อนผันการชำระหนี้ เพราะไม่มีลูกค้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนด้านการเป็นลูกหนี้ บริษัทรถยนต์ได้มีการผ่อนปรนการจ่ายค่างวดให้เหลือเพียง 10% ทำให้แบ่งเบาภาระไปได้ ส่วนหนี้อื่น ๆ หากมีเงินเข้ามา บริษัทเร่งทยอยชำระคืนไปบางส่วน ทำให้หลายธุรกิจที่ค้าขายกับบริษัทยังคงให้เครดิตต่อเนื่อง เช่น บริษัทขายอะไหล่รถ แต่ตอนนี้มีข่าวว่า สำหรับผู้ประกอบรถทัวร์รายย่อย ร้านขายอะไหล่ ขอให้จ่ายเป็นเงินสด เพราะตอนนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวในภูเก็ตยังไม่ฟื้นตัว
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างในจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่าขณะนี้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในจังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาหนัก ร้านค้าวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ จึงขอให้ผู้รับเหมาจ่ายเงินสดในการซื้อวัสดุเช่นเดียวกัน
ด้านนายวิชัย ประเสริฐสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรีน เมโทร จำกัด ผู้พัฒนาโครงการหมู่บ้านจัดสรรโครงการบ้านล้านหลัง ใน 6 จังหวัดภาคอีสาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า ร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไปในภาคอีสานไม่กล้าให้เครดิตกับผู้รับเหมารายเล็ก และขอให้จ่ายค่าสินค้าต่าง ๆ เป็นเงินสด เนื่องจากไม่มั่นใจและเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้
นายธรรมนูญ รังทอง เจ้าของ หจก.รังทองทัวร์ ผู้ให้บริการเช่ารถยนต์-รถตู้-รถบัสรายใหญ่ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ธุรกิจบางรายมีปัญหา เช่น มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างบางรายจ่ายเงินไม่ตรงดิวกับร้านวัสดุก่อสร้าง ปกติร้านวัสดุก่อสร้างจะให้เครดิต 30-90 วัน ขณะที่ร้านอะไหล่รถยนต์มีการเบี้ยวหนี้เช่นเดียวกัน แต่ในส่วนของธุรกิจรังทองทัวร์ ซึ่งเปิดบริการมา 40 ปี ยังคงได้รับเครดิตลองเทอมจากร้านอะไหล่ 30-60 วันเหมือนเดิม เพราะบริษัทยึดเรื่องเครดิตความน่าเชื่อถือเป็นหลักในการทำธุรกิจ บางครั้งจ่ายให้ก่อนถึงเวลาที่ตกลงกันด้วย
อสังหาฯชี้ยังไม่มีปัญหา
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เห็นสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อจากก่อนโควิด ดีเวลอปเปอร์หลายรายจึงระมัดระวังตัวในการเปิดโครงการใหม่ตั้งแต่ต้นปี และในฐานะผู้ประกอบการ บริษัทไม่ได้มีแผนรุกขยายโครงการ จึงไม่มีปัญหาสภาพคล่องจากหนี้สินและสินค้าคงเหลือ
โดยบริษัทอสังหาฯจะเกิดปัญหาสภาพคล่องของเงินสดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.หนี้สินจากการกู้ยืมแบงก์ ซึ่งช่วงโควิดแบงก์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ดีเวลอปเปอร์รายกลางรายเล็กจึงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องนี้ 2.สต๊อกสินค้า แนวราบมีความได้เปรียบในการยืดหยุ่น สามารถสร้างได้ทีละเฟสและจึงควบคุมปริมาณสต๊อกง่ายกว่าคอนโดฯที่จำเป็นต้องสร้างให้เสร็จทั้งตึก 3.ค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการของแต่ละบริษัท หากควบคุมไม่ดีจะเกิดปัญหาสภาพคล่อง
“ส่วนตัวมองว่าธุรกิจที่อยู่อาศัยแนวราบยังไม่น่ามีปัญหา เพราะแบงก์คอยคุมไม่ให้ผู้ประกอบการมีหนี้เยอะเกินไป” นายวสันต์กล่าว
ขณะที่นายรุ่งรัตน์ ลิ่มทองแท่ง อุปนายกและเลขาธิการสมาคมอาคารชุดไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซื่อตรงกรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้ประสบปัญหาสภาพคล่องกระแสเงินสด จึงไม่ได้มีการขอยืดระยะเวลาจ่ายค่างวดตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้รับเหมา หรือซัพพลายเออร์ เนื่องจากบริษัทไม่ได้กู้สินเชื่อจากแบงก์ทั้งหมด เมื่อลูกค้าโอนกรรมสิทธิ์ บริษัทจึงได้เงินครบตามมูลค่าบ้าน แต่ในโครงการที่กู้พรีไฟแนนซ์จากแบงก์ ดีเวลอปเปอร์จะต้องจ่ายคืนแบงก์ 70% ของมูลค่าบ้านที่ลูกค้าโอนให้ ทั้งยังต้องหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ส่วนลด 5% ทำให้มีเงินสดเข้าบริษัทน้อย
นอกจากนี้ ช่วงมีนาคมบริษัทได้ปรับลดเป้าการโอน 1,000 ล้านบาท ลง -20% ทำให้สั่งสร้างสต๊อกบ้านน้อยลง รวมถึงปรับเปลี่ยนสัดส่วนสต๊อก จากเดิมบ้านสร้างเสร็จพร้อมขาย 70% กับบ้านสั่งสร้าง30% กลายเป็นสัดส่วนอย่างละ 50% เท่ากัน เลี่ยงปัญหาแบกรับต้นทุนจากสินค้าที่ขายไม่ได้ และให้ผู้ซื้อบ้านสั่งสร้างต้องวางดาวน์ก่อน 5-20% ถ้าลูกค้ากู้สินเชื่อไม่ผ่านและโอนบ้านไม่ได้ บริษัทจะยังมีเงินสดบางส่วนหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วการจ่ายเงินตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท หากคู่ค้าเป็นร้านวัสดุหรือโมเดิร์นเทรดจะมีกรอบเวลาการจ่ายต่องวด 30-60 วัน และอาจเพิ่มเป็น 90 วัน ถ้าติดขัดเรื่องการวางรอบบิล ซึ่งยังไม่นับว่าเป็นการขอยืดหนี้ และร้านค้าอาจมีการคิดดอกเบี้ย 2-3% ต่อเดือน แต่หากมีการเพิ่มระยะการจ่ายกับร้านค้า เช่น ยืดต่ออีก 90 วันจะถือเป็นการยืดดีล
ขณะที่บริษัทรับเหมาจะจ่ายเงินทุก 15 วัน กรณีมีการส่งมอบงานเสร็จตามกำหนดงวด เพราะบริษัทว่าจ้างบริษัทรับเหมารายย่อยที่มีเงินทุนสำรองค่าใช้จ่ายภายในน้อยกว่าผู้รับเหมารายใหญ่ และถ้าจ่ายเงินล่าช้าเป็น 30 วัน จะทำให้บริษัทรับเหมาขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างได้
August 31, 2020 at 10:00AM
https://ift.tt/3baj0WM
ธุรกิจอ่วมโดนเบี้ยวหนี้ ทุกวงการตั้งการ์ด "ขอเงินสด" - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/2ZllqOm
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ธุรกิจอ่วมโดนเบี้ยวหนี้ ทุกวงการตั้งการ์ด "ขอเงินสด" - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment