29 กันยายน 2563 | โดย ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ | คอลัมน์ Smart EEC
30
ส่องวิวัฒนาการ "อุตสาหกรรมค้าปลีก" จากร้านค้าโชห่วย ร้านขายของชำ พัฒนาสู่ห้างสรรพสินค้า แต่วันนี้รูปแบบการซื้อขายได้ปรับเปลี่ยนแล้วไปแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็ได้ เส้นทางของร้านค้าปลีกไทยจึงมุ่งหน้าไปทางออนไลน์ ที่เติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 10%
อุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จากอดีตที่ร้านค้าปลีกดั้งเดิม เช่น โชห่วย ร้านขายของชำ เคยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 75% ในปี 2544 มาเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่แซงขึ้นมามีส่วนแบ่งตลาด 61% ในปี 2556 ซึ่งการค้าปลีกทั้งสองแบบล้วนเป็นธุรกิจค้าปลีกแบบมีหน้าร้าน
อย่างไรก็ดี ในอนาคตอันใกล้ รูปแบบช่องทางการซื้อขายอาจเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจค้าปลีกแบบไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านหรือการมีช่องทางหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยร้านค้าปลีกออนไลน์มีทิศทางการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละมากกว่า 10% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบมีหน้าร้านมีการเติบโตเฉลี่ยเพียง 3.6% ต่อปี ในช่วงปี 2556-2560
ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม หรือร้านขายของชำขนาดเล็กที่จัดหาสินค้ามาจำหน่าย โดยมักจะมีการบริหารธุรกิจด้วยสมาชิกในครอบครัว และตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ซึ่งอาจเป็นการจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ขายสินค้าโดยตรงแก่ผู้บริโภค หรือร้านค้าภายในชุมชน มักจะจำกัดอยู่ในเมืองหรือภูมิภาคนั้น ร้านค้าปลีกแบบนี้จะมีข้อได้เปรียบด้านความสัมพันธ์กับคนในชุมชนที่ใกล้ชิด มีโอกาสจะเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ สามารถอธิบายรายละเอียดหรือแนะนำสินค้าได้ดี ร้านค้าลักษณะนี้ได้แก่ ยี่ปั๊ว โชห่วย ร้านชำ ตลาดนัด และร้านค้าเร่
ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ มักจะหมายถึงร้านค้าปลีกในรูปแบบห้างสรรพสินค้า ดิสเคาน์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง ซึ่งใช้ระบบเข้ามาบริหารการจัดเก็บ ขายสินค้า และบริหารงาน ควบคู่กับการใช้พนักงานในการขายและให้บริการลูกค้าแทนที่จะเป็นเจ้าของกิจการแบบร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม
ร้านค้าปลีกลักษณะนี้มักมีผู้ประกอบการเป็นนายทุนรายใหญ่ที่มีเครือข่ายสาขาจำนวนมาก และเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ จึงมีอำนาจต่อรองเหนือผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า ส่งผลให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่สามารถตั้งราคาที่ถูกกว่าแบบดั้งเดิม รวมถึงการขยายสาขาเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและมีความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าหลายประเภทพร้อมกันจากร้านค้าแห่งเดียว โดยประเภทของร้านค้าปลีกสมัยใหม่มักแบ่งตามขนาดพื้นที่ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และประเภทสินค้าที่แตกต่างกัน
ร้านค้าปลีกออนไลน์ หมายถึงร้านค้าที่ดำเนินการซื้อขายสินค้าบนออนไลน์ ซึ่งร้านค้าปลีกออนไลน์ในไทยสามารถแบ่งช่องทางการซื้อขายออกเป็น 4 ช่องทาง ได้แก่ 1. เว็บไซต์ของแบรนด์ เป็นเว็บไซต์ของแบรนด์ที่ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้ากับผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์ได้โดยตรง โดยเจ้าของแบรนด์สามารถบริหารจัดการเว็บไซต์ได้ทั้งหมด รวมถึงสามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้าและสร้างประสบการณ์การใช้งานได้อย่างที่เจ้าของแบรนด์ต้องการ ช่องทางนี้จะอาศัยข้อได้เปรียบด้านความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการที่มีในธุรกิจของตนเอง และประสบการณ์จากการขายหน้าร้านในการพัฒนารูปแบบหน้าเว็บและเสนอสินค้าที่ตรงใจผู้ซื้อ
2.ผู้ค้าปลีกออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มที่บริหารจัดการโดยร้านค้าปลีก (แบบดั้งเดิมและสมัยใหม่) โดยทำหน้าที่เหมือนร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีการบริหารจัดสินค้าในคลังสินค้าเพื่อวางจำหน่ายแต่ดำเนินการบนออนไลน์ ช่องทางนี้ผู้ให้บริการจะมีข้อได้เปรียบจากการขายสินค้าได้ทั้งทางร้านค้าปลีกแบบมีหน้าร้านร่วมกับการค้าปลีกออนไลน์
3.ตลาดออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมให้ผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ให้บริการจะไม่ได้เสนอขายสินค้าโดยตรง แต่จะอำนวยความสะดวกในบริการอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้ประสบการณ์ในการซื้อขายสินค้าดีขึ้น เช่น การจัดส่งสินค้า การชำระเงิน และการจัดเก็บสินค้า เป็นต้น ตัวอย่างตลาดออนไลน์ในไทย เช่น Lazada Shopee JD Tarad Kaidee เป็นต้น
4.การค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นช่องทางที่พัฒนาต่อยอดมาจากผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากจำนวนผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานในการเสนอขายสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ขายอาจอยู่ในรูปแบบตัวบุคคลหรือผ่านการสร้าง Page ในการพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
แม้ร้านค้าปลีกออนไลน์จะมีทิศทางการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง และอาจมีสัดส่วนตลาดแซงร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ธุรกิจควรพิจารณาช่องทางการขายสินค้าจากคุณลักษณะของสินค้าและความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง โดยทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจอาจจะเป็นการขายผ่านช่องทางการขายตรง ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าปลีกออนไลน์ หรือหลากหลายช่องทางก็เป็นได้
September 29, 2020 at 05:00AM
https://ift.tt/36bzcqp
วิวัฒนาการ 'การซื้อ-ขาย' สู่ช่องทางแห่งอนาคต - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/2ZllqOm
Bagikan Berita Ini
0 Response to "วิวัฒนาการ 'การซื้อ-ขาย' สู่ช่องทางแห่งอนาคต - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment